G7 ‘ปฏิรูปภาษีโลก’ ให้ทุกประเทศ ได้สิทธิ์ ‘รีด’ BigTech ที่เข้าไปกอบโกย
*****‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 (G-7) จะรับรองภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่มีขึ้นเพื่ออัปเดตกฎหมายภาษีระหว่างประเทศ สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคโลกาภิวัตน์
*****โดยบรรดาผู้นำ G7 จะประกาศแผน Digital Services Taxes ซึ่งมุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ (Big Tech) ด้วยแผนภาษีใหม่ที่เชื่อมโยงกับสถานที่ที่บริษัทข้ามชาติเหล่านั้นทำธุรกิจอยู่จริง และมีธุรกรรมมากกว่าพื้นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่
*****แผนภาษีขั้นต่ำทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘นโยบายต่างประเทศสำหรับชนชั้นกลาง’ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่า โลกาภิวัตน์และการค้าถูกควบคุมเพื่อประโยชน์ของคนอเมริกันที่ทำงาน ไม่ใช่แค่สำหรับมหาเศรษฐีและบรรษัทข้ามชาติเท่านั้น
*****ส่วนในพื้นที่อื่นของโลก ก็จะสามารถยุติการแข่งขันลดหย่อนภาษีของบางประเทศในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ เช่น ไอร์แลนด์เก็บภาษี 12.5% ฝรั่งเศสเก็บสูงถึง 31% หรือหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ที่มีอัตราภาษีในระดับที่ต่ำมาก หรือเกือบจะไม่จัดเก็บเลย ฯลฯ เป็นต้น
*****ทั้งนี้ การประชุม รัฐมนตรีคลัง G 7 ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม G7 Summit ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงใน เรื่อง ‘การปฏิรูประบบภาษีโลก’ เพื่อให้เหมาะกับยุคดิจิทัล และเพื่อสร้างหลักประกันว่า บริษัทที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ นั้น เสียภาษีได้อย่างถูกที่ ถูกต้อง และเป็นธรรม
*****ข้อสรุปของ G7 จะเป็นผลดีกับประเทศที่บรรดาบริษัทดิจิทัล เข้าไปกอบโกยผลกำไร แต่เจ้าของประเทศกลับไม่สามารถจัดเก็บภาษีกับธุรกิจเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ มีที่ปรึกษาเป็นคนใหญ่คนโตในประเทศนั้นๆ และมีอิทธิพลถึงขั้นยับยั้งการออกกฎหมาย หรือขัดขวางการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ ทำให้ประเทศของตัวเองเสียประโยชน์ที่ควรได้รับ ดังนั้นหาก ‘การปฏิรูประบบภาษีโลก’ สามารถดำเนินการได้จริง ทุกประเทศทั่วโลกจะแก้ปัญหาการไม่จ่ายภาษีของบริษัทดิจิทัลต่างชาติเหล่านี้ได้